องค์การบริหารส่วนตำบลกุดผึ้ง อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู: www.kudphung.go.th

 
 
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน

สภาพทั่วไป

1. ด้านกายภาพ
1.1 ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชน

   องค์การบริหารส่วนตำบลกุดผึ้ง เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ที่มีวิวัฒนาการมาจากสภาตำบลเนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้น มีนโยบายที่จะกระจายอำนาจการปกครองลงสู่ประชาชนให้มากขึ้น จึงพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับ “สภาตำบล” ที่มีอยู่เดิมเสียใหม่  มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 โดยให้มีการยกฐานะสภาตำบลที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ เรียกว่า “องค์การบริหารส่วนตำบล” และต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติจนถึงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2552  ประกาศใช้เมื่อ  26  พฤศจิกายน 2537  องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลกุดผึ้งสำนักงานตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลกุดผึ้ง อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดหนองบัวลำภู ระยะห่างจากอำเภอสุวรรณคูหา 4 กิโลเมตรและห่างจากจังหวัด 58 กิโลเมตร
1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
    บริเวณโดยรอบเป็นที่ลุ่มลาดเอียงลงสู่ห้วยน้ำโมง ประกอบด้วยทุ่งนา ป่าไม้ และภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทรายและดินลูกรัง ชั้นล่างเป็นดินดานไม่เก็บน้ำหรือไม่อุ้มน้ำในฤดูแล้ง มีลำห้วยต่าง ๆ ไหลผ่าน เช่น ห้วยน้ำโมง ห้วยยาง ห้วยบน ห้วยน้ำกง ห้วยฮวก ห้วยทามคำไฮ  เป็นต้น
          ที่ตั้ง  ตำบลกุดผึ้ง  มีจำนวนทั้งหมด  11  หมู่บ้าน  ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง  ดังนี้
ทิศเหนือ          มีอาณาเขตติดกับ  ตำบลนาสี  อำเภอสุวรรณคูหา  จังหวัดหนองบัวลำภู
ทิศใต้             มีอาณาเขตติดกับ  ตำบลนาด่าน ตำบลนาดี  อำเภอสุวรรณคูหา  จังหวัดหนองบัวลำภู
ทิศตะวันออก    มีอาณาเขตติดกับ  ตำบลจำปาโมง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันตก      มีอาณาเขตติดกับ  ตำบลบ้านโคก  อำเภอสุวรรณคูหา  จังหวัดหนองบัวลำภู
                   พื้นที่    องค์การบริหารส่วนตำบลกุดผึ้ง มีจำนวน 99 ตารางกิโลเมตร
1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
    1. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึง ปลายตุลาคม ระยะนี้จะได้รับอิทธิพลลมตะวันตกเฉียงใต้ หย่อมความกดอากาศสูงอยู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ลมนี้จะพัดความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาปกคลุมประเทศไทยร่องความกดอากาศต่ำ จะเคลื่อนที่จากภาคใต้พาดผ่านมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งจังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้มีฝนตกชุก เดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดได้แก่เดือนสิงหาคม
    2. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ ระยะนี้ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หย่อมความกดอากาศสูงอยู่ที่ประเทศรัสเซีย จีน และได้พัดเอาอากาศหนาวเย็นมาปกคลุมประเทศไทย  โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รับอิทธิพลจากลมชนิดนี้มาก ทำให้อากาศหนาวเย็นทั่วไปทั้งจังหวัดหนองบัวลำภู เดือนที่มีอากาศหนาวมากได้แก่ เดือนมกราคม
   3. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงปลายเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อน อบอ้าวทั่วทุกเขตพื้นที่ของจังหวัด เพราะระยะนี้เป็นช่วงปลอดลมมรสุม เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด คือเดือนเมษายน
1.4 ลักษณะดิน  
   โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบเป็นจุดตั้งชุมชน บริเวณโดยรอบเป็นที่ลุ่มลาดเอียงลงสู่ห้วยโมง ประกอบด้วยทุ่งนา ป่าไม้ และภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทรายและดินลูกรัง  ชั้นล่างเป็นดินดานไม่เก็บน้ำหรือไม่อุ้มน้ำในฤดูแล้ง
1.5 ลักษณะแหล่งน้ำ
   คุณภาพแหล่งน้ำ โดยทั่วไป  สภาพแหล่งน้ำ ลำคลอง ห้วย อยู่ในสภาพตื้นเขิน ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ระบบจัดการด้านสิ่งแวดล้อมยังมีปัญหา คือ ระบบระบายน้ำ  เนื่องจาก สภาพภูมิประเทศที่เป็นราบลุ่มและบริเวณโดยรอบองค์การบริหารส่วนตำบลกุดผึ้งมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ยังไม่มีระบบระบายน้ำที่ถูกต้องและเหมาะสม  ทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังระยะสั้น ๆ เมื่อฝนตกหนัก
ประเภททรัพยากรแหล่งน้ำ ได้แก่ ลำห้วย และลำคลอง
จำนวนทรัพยากรแหล่งน้ำ มีลำห้วย จำนวน  7 แห่ง หนองน้ำ จำนวน 1 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 1 แห่ง ดังนี้
  1. ลำห้วยน้ำโมง                        6) ลำห้วยโคโล่
  2. ลำห้วยยาง                           7) อ่างเก็บน้ำทามคำไฮ            
  3. ลำห้วยบน                           8) อ่างเก็บน้ำออนซอน
  4. ลำห้วยน้ำกง                      
  5. ลำห้วยฮวก    
1.6 ลักษณะของไม้และป่าไม้
    เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ด้วยทุ่งนา ป่าเบญจพรรณ ลักษณะทั่วไปเป็นป่าโปร่ง พื้นที่ป่าไม้ไม่รกทึบ มีไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่มาก มีอยู่ทั่วไปตามภาคต่างๆ ที่เป็นที่ราบ หรือตามเนินเขา พันธุ์ไม้จะผลัดใบในฤดูแล้ง การกระจายของป่าเบญจพรรณในประเทศไทย พบในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ครอบคลุมต่ำลงไปจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตอนบน มีปรากฏที่ระดับความสูงตั้งแต่ 50 เมตร ถึง 800 เมตร หรือสุงกว่านี้ในบางจุด
2. ด้านการเมือง/การปกครอง
          2.1 เขตการปกครอง
                   เขตการปกครอง องค์การบริหารส่วนตำบลกุดผึ้ง  ได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น  2  ตำบล  11  หมู่บ้าน  ดังนี้
          1. ตำบลกุดผึ้ง ประกอบด้วย 7  หมู่บ้าน
                              1. บ้านกุดผึ้ง                       หมู่ 1
                              2. บ้านเชียงฮาย                   หมู่ 3                          
                              3. บ้านโนนป่าหว้าน               หมู่ 4                                  
                              4. บ้านนาไก่                        หมู่ 5                                       
                              5. บ้านนาไร่เดียว                  หมู่ 6                         
                              6. บ้านหินนกยูง                    หมู่ 7
                              7. บ้านนาคำน้อย                   หมู่ 8                          
         2. ตำบลสุวรรณคูหา  ประกอบด้วย  4  ชุมชน
                              1. บ้านทรายทอง                   หมู่ 1                                 
                              2. บ้านภูวงศ์                        หมู่ 2                       
                              3. บ้านพนมพัฒนา                 หมู่ 5
                              4. บ้านหนองกุงใต้                 หมู่ 7
          2.2  การเลือกตั้ง
                ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลกุดผึ้ง ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองตนเองในรูปของผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรรมการคุ้ม, ประชาคมหมู่บ้าน  เพื่อทำหน้าที่ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของท้องถิ่น  เสนอปัญหาและความต้อง และร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล ในลักษณะของการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์”
ปัญหาอุปสรรค คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นว่าคณะผู้บริหารที่ได้รับการได้เลือกเข้ามานั้นมีความสำคัญอย่างไร  มีภารกิจอะไรบ้าง  โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง จึงไม่ให้ความสำคัญในการออกมาใช้สิทธิเท่าใดนัก